วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาบุคลากรทางการศึกษาและแนวคิดในการพัฒนา(1)

Title: ปัญหาบุคลากรทางการศึกษาและแนวคิดในการพัฒนา(1)
Author: พศิน แตงจวง
E-mail: phasina@hotmail.com

จากข่าวที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนอย่างแพร่หลายถึงปัญหาบุคลากรทางการศึกษา แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีการศึกษา ทำความเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร มีอะไรเป็นปัจจัยต้นที่หนุนนำให้เกิดปัญหา ผู้เขียนจึงพยายามเสนอแนวคิดเบื้องต้นเพื่อว่าจะได้มีการวิพากษ์และนำไปสู่กระบวนการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขให้มีปัญหาเหลือน้อยที่สุด ในช่วงแรกจะนำเสนอเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ตอน

ตอนที่ 1 สภาพปัญหาบุคลากรทางการศึกษา
ตอนที่ 2 แนวคิดในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา

สรุป
ปัญหาบุคลากรทางการศึกษาของไทยตกอยู่ในสภาพเรื้อรังมาตั้งแต่เริ่มต้นจัดการศึกษา แต่มีความแตกต่างกันไปตามสภาพบริบทและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หากจะกล่าวถึงสภาพปัญหา สามารถจำแนกได้เป็น 3 ยุค คือ
1. ยุคฝืดเคืองและขาดแคลน ยุคเริ่มมีการศึกษาถึงสิ้นแผนพัฒนาการศึกษา 2503 เป็นยุคที่ขาดแคลนทุกอย่าง ตั้งแต่ขาดแคลนสถานที่เรียนจึงต้องอาศัยอาคารวัด ขาดแคลนครู จึงต้องใช้ครูที่มีคุณวุฒิต่ำทำหน้าที่สอนไปพลางก่อน ขาดกระบวนการนิเทศติดตามและการพัฒนา
2. ยุคการอบรม เรียนรู้ นับตั้งแต่ประกาศใช้แผนพัฒนาการศึกษา พ.ศ. 2520 ในปี พ.ศ. 2521 มีการประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษา-มัธยมศึกษา พุทธศักราช 2521เป็นยุคที่เกิดการปฏิรูปโครงสร้างและหลักสูตร ครูใช้เวลาส่วนใหญ่กับการฝึกอบรม เนื่องจากต้องเรียนรู้วิธีการสอนแบบใหม่ที่เน้น จากการสอนหนังสือ ครูเป็นศูนย์กลาง เป็นยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูต้องเรียนรู้วิธีการพัฒนาหลักสูตร วิธีการวัดผลประเมินผลจากการสอบแบบตัวเลือก(multiple choice) เป็นให้คิดให้เขียนตอบ และหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2533 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประถมศึกษาที่มีความพร้อมทั่วประเทศรวม 119 โรงเรียน โดยใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521(ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533) การจัดให้มีการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประถมศึกษา เรียกว่าเป็น “โรงเรียนขยายโอกาส” ครูในโรงเรียนขยายโอกาสจึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการฝึกอบรม เนื่องจากหลักการจัดการศึกษาในระดับนี้มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ ความ สามารถให้ออกไปประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจ รวมทั้งการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายของการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมกับตนในการทำประโยชน์ให้สังคม (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 2536) ครูจึงต้องเรียนรู้วิธีการสอน การบริหารนักเรียนที่เป็นวัยรุ่น ต้องเรียนรู้วิธีการจัดสภาพเรียนรู้ การจัดหาสื่อที่เหมาะสม
3. ยุคปฏิรูป นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาเป็นยุคที่ครูเกิดความสับสนในสถานภาพของตนเองเนื่องจากการยุบรวมกรมสามัญและสำนัก งานการประถมศึกษาแห่งชาติ จัดตั้งเป็นสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยุบรวมสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด-อำเภอและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด-อำเภอ จัดตั้งเป็น 175 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) เป็นต้นทำให้ความสนใจที่จะให้กับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนลดความสำคัญลงคนไทยจึงได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยเพียง 8.6 ปี แรงงานส่วนใหญ่ 56.1% มีการศึกษาแค่ประถมและต่ำกว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพภายนอก(สมศ.) รายงานว่า สถานศึกษา ครู นักเรียน ที่ได้มาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ดีมีสัดส่วนต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ คุณภาพของการศึกษายังมีความแตกต่างกันสูง ระหว่างสถานศึกษาขนาดใหญ่ ขนาดกลางในเมือง และสถานศึกษาขนาดเล็กในชนบท และชุมชนแออัดในเมืองและมีความแตกต่างกันสูงระหว่างนักเรียนที่เก่งกับนักเรียนที่เรียนไม่เก่ง คือมีนักเรียนเก่งจำนวนหนึ่งไปแข่งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิควิชาการได้รับรางวัล มีจำนวนหนึ่งที่สอบระดับชาติได้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็มแต่ก็มีนักเรียนจำนวนมากที่ได้คะแนนต่ำและต่ำมาก รวมทั้งนักเรียนชั้น ป.2 และ ป.3 จำนวนหนึ่งยังอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง (วิทยากร เชียงกูล 2009)

view to fulltext คลิกที่นี่