วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาบุคลากรทางการศึกษาและแนวคิดในการพัฒนา(1)

Title: ปัญหาบุคลากรทางการศึกษาและแนวคิดในการพัฒนา(1)
Author: พศิน แตงจวง
E-mail: phasina@hotmail.com

จากข่าวที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนอย่างแพร่หลายถึงปัญหาบุคลากรทางการศึกษา แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีการศึกษา ทำความเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร มีอะไรเป็นปัจจัยต้นที่หนุนนำให้เกิดปัญหา ผู้เขียนจึงพยายามเสนอแนวคิดเบื้องต้นเพื่อว่าจะได้มีการวิพากษ์และนำไปสู่กระบวนการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขให้มีปัญหาเหลือน้อยที่สุด ในช่วงแรกจะนำเสนอเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ตอน

ตอนที่ 1 สภาพปัญหาบุคลากรทางการศึกษา
ตอนที่ 2 แนวคิดในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา

สรุป
ปัญหาบุคลากรทางการศึกษาของไทยตกอยู่ในสภาพเรื้อรังมาตั้งแต่เริ่มต้นจัดการศึกษา แต่มีความแตกต่างกันไปตามสภาพบริบทและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หากจะกล่าวถึงสภาพปัญหา สามารถจำแนกได้เป็น 3 ยุค คือ
1. ยุคฝืดเคืองและขาดแคลน ยุคเริ่มมีการศึกษาถึงสิ้นแผนพัฒนาการศึกษา 2503 เป็นยุคที่ขาดแคลนทุกอย่าง ตั้งแต่ขาดแคลนสถานที่เรียนจึงต้องอาศัยอาคารวัด ขาดแคลนครู จึงต้องใช้ครูที่มีคุณวุฒิต่ำทำหน้าที่สอนไปพลางก่อน ขาดกระบวนการนิเทศติดตามและการพัฒนา
2. ยุคการอบรม เรียนรู้ นับตั้งแต่ประกาศใช้แผนพัฒนาการศึกษา พ.ศ. 2520 ในปี พ.ศ. 2521 มีการประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษา-มัธยมศึกษา พุทธศักราช 2521เป็นยุคที่เกิดการปฏิรูปโครงสร้างและหลักสูตร ครูใช้เวลาส่วนใหญ่กับการฝึกอบรม เนื่องจากต้องเรียนรู้วิธีการสอนแบบใหม่ที่เน้น จากการสอนหนังสือ ครูเป็นศูนย์กลาง เป็นยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูต้องเรียนรู้วิธีการพัฒนาหลักสูตร วิธีการวัดผลประเมินผลจากการสอบแบบตัวเลือก(multiple choice) เป็นให้คิดให้เขียนตอบ และหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2533 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประถมศึกษาที่มีความพร้อมทั่วประเทศรวม 119 โรงเรียน โดยใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521(ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533) การจัดให้มีการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประถมศึกษา เรียกว่าเป็น “โรงเรียนขยายโอกาส” ครูในโรงเรียนขยายโอกาสจึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการฝึกอบรม เนื่องจากหลักการจัดการศึกษาในระดับนี้มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ ความ สามารถให้ออกไปประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจ รวมทั้งการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายของการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมกับตนในการทำประโยชน์ให้สังคม (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 2536) ครูจึงต้องเรียนรู้วิธีการสอน การบริหารนักเรียนที่เป็นวัยรุ่น ต้องเรียนรู้วิธีการจัดสภาพเรียนรู้ การจัดหาสื่อที่เหมาะสม
3. ยุคปฏิรูป นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาเป็นยุคที่ครูเกิดความสับสนในสถานภาพของตนเองเนื่องจากการยุบรวมกรมสามัญและสำนัก งานการประถมศึกษาแห่งชาติ จัดตั้งเป็นสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยุบรวมสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด-อำเภอและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด-อำเภอ จัดตั้งเป็น 175 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) เป็นต้นทำให้ความสนใจที่จะให้กับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนลดความสำคัญลงคนไทยจึงได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยเพียง 8.6 ปี แรงงานส่วนใหญ่ 56.1% มีการศึกษาแค่ประถมและต่ำกว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพภายนอก(สมศ.) รายงานว่า สถานศึกษา ครู นักเรียน ที่ได้มาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ดีมีสัดส่วนต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ คุณภาพของการศึกษายังมีความแตกต่างกันสูง ระหว่างสถานศึกษาขนาดใหญ่ ขนาดกลางในเมือง และสถานศึกษาขนาดเล็กในชนบท และชุมชนแออัดในเมืองและมีความแตกต่างกันสูงระหว่างนักเรียนที่เก่งกับนักเรียนที่เรียนไม่เก่ง คือมีนักเรียนเก่งจำนวนหนึ่งไปแข่งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิควิชาการได้รับรางวัล มีจำนวนหนึ่งที่สอบระดับชาติได้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็มแต่ก็มีนักเรียนจำนวนมากที่ได้คะแนนต่ำและต่ำมาก รวมทั้งนักเรียนชั้น ป.2 และ ป.3 จำนวนหนึ่งยังอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง (วิทยากร เชียงกูล 2009)

view to fulltext คลิกที่นี่

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 กรกฎาคม 2553 เวลา 06:33

    กราบเรียน ท่านอาจารย์
    ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยคนครับ

    ปัญหาพื้นฐานของมนุษย์คือ
    ความแตกต่างอย่างสมบูรณ์แบบ
    ความแตกต่างประการที่หนึ่งคือ ปัญญา
    การ์ดเนอร์นำเสนอปัญญาของมนุษย์มีถึง 8 ด้าน
    ความแตกต่างประการที่สองคือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม
    อันแสดงถึงชนชั้น และการเข้าถึงทรัพยากร
    ความแตกต่างประการที่สามคือ ความพยายาม
    คนบางคนมีความพยายามมาก บางคนมีความพยายามน้อย
    มีความละเอียดปราณีตอะไรที่ต่างกัน ทำให้ต่างกัน
    พุทธศาสนาบอกว่า เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม
    คือกฎแห่งเหตุผล ผลของวันนี้มาจากอดีตที่กระทำไว้
    โลกทัศน์ชีวทัศน์ของมนุษย์ อันมาจากการเลี่ยงดูและการเลือกสิ่งที่ตนเอง
    ชอบใจไว้ในกลุ่มความคิดของตนเอง นั้นก็แตกต่างกัน
    ส่งผลให้เกิดพวกชอบวัตถุนิยม ชอบจิตนิยม ชอบอัตถิภวนิยม
    แตกต่างกันไป หาได้เหมือนกันไม่
    ความแตกต่าง อันนี้ ตรงกันข้ามกับสิ่งเรียกว่า มาตรฐาน
    มาตรฐานคืออะไร มาตรฐานคือการยัดเยียดสรรพสิ่งที่มีความหลากหลาย
    ด้วยตัววัดเดียว มันคล้ายอะไร ????

    ถ้าเล่าเรื่องผีรำคาญคนที่นอนศาลาไม่เป็นระเบียบ
    ผีมันก็ไปจัดระเบียบให้กับคนที่นอนศาลา แต่มันจัดอะไรมันก็ไม่ถูกใจเสียที
    เพราะจัดหัวเท่ากันมันก็ทำให้ขาไม่เท่ากัน พอจัดขาก็ทำให้หัวไม่เท่ากัน
    จัดไปจัดมาจนเกือบสว่าง มันก็ยังไม่ได้และยอมแพ้ไปตอนเช้ามืด

    เรื่องนี้สะท้อนถึงไม่มีใครที่สามารถจัดระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดย
    ไม่ปัญหา เพราะมนุษย์แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นมาตรฐานในการพัฒนามนุษย์ันั้นต้องมากกว่าสองมาตรฐาน เพราะมนุษย์มีความหลากหลายมาก

    การพัฒนามนุษย์ที่หลากหลายนั้นควรจะมีทางเลือกหลากหลาย
    เปิดโอกาสให้กับ กลุ่มคนต่าง ๆ ที่เลือกสร้างองค์ความรู้ที่มีฐานจากโลกทัศน์
    ชีวทัศน์ สภาพเศษฐกิจ สังคม ปัญญา ความชอบ ความถนัดที่ต่างกัน จะทำให้การพัฒนามนุษย์มีความมั่นคง หลากหลาย เสมือนระบบนิเวศธรรมชาติ
    ที่มีความหลากหลาย ก่อให้เกิดความยั่งยืนในที่สุดครับ

    ตอบลบ